วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-คูคต

"คีรี" เจ้าพ่อบีทีเอส เฉือน 10 ไร่เยื้องแดนเนรมิต ทุ่ม200ล้าน ตัดถนน 8 เลน แก้รถติดรัชโยธิน
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ  18 พฤศจิกายน 2559 

"คีรี กาญจนพาสน์" เจ้าพ่อบีทีเอส เฉือน 10 ไร่เยื้องแดนเนรมิต ทุ่ม 200 ล้านตัดถนน 8 เลน เชื่อมพหลโยธินทะลุวิภาวดีฯ แก้รถติดแยกรัชโยธิน เปิดใช้ฟรี ปีหน้าขึ้นโครงการอสังหาฯ 2 หมื่นล้าน ดึง "จีแลนด์-แสนสิริ" ร่วมทุน ผุดห้าง คอนโดฯหรู รับรถไฟฟ้าสีเขียว "หมอชิต-คูคต" ลุยต่อคอมเพล็กซ์หมื่นล้านอีก 2 ทำเล "พญาไท-จตุจักร" 
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังได้ร่วมทุนกับ บมจ.แกรนด์ คาแนล แลนด์ (จีแลนด์) สัดส่วน 50 : 50 จัดตั้งบริษัท เบย์วอเตอร์ จำกัด ประมูลซื้อที่ดินจากกรมบังคับคดี 48 ไร่ ที่เคยเป็นที่ตั้งโครงการบางกอกโดม ตรงข้ามแดนเนรมิตเดิม ด้วยวงเงิน 7,350 ล้านบาท เมื่อปี 2557

เฉือนที่ 10 ไร่ทำทางลัด

ล่าสุด ได้เริ่มพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในโครงการแล้ว พร้อมนำที่ดิน 10 ไร่ ช่วงระหว่างกลางก่อสร้างเป็นถนนขนาด 30 เมตร ประมาณ 7-8 ช่องจราจร เชื่อมการเดินทางจากถนนพหลโยธินซอย 19/1 ทะลุถนนวิภาวดีรังสิต ระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 200 ล้านบาท

ส่วนนี้จะเปิดให้ประชาชนใช้โดยไม่เก็บค่าผ่านทาง เพื่อเป็นเส้นทางลัด เลี่ยงรถติดบริเวณแยกรัชโยธิน ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะปิดการจราจร เพื่อรื้อสะพานสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อขยาย (หมอชิต-คูคต) วันที่ 22 พ.ย.นี้เป็นต้นไป

"เรากำลังเร่งสร้างถนนให้เสร็จก่อน ให้คนได้ใช้ก่อนปีใหม่ ช่วยรัฐแก้ปัญหารถติด ส่วนการพัฒนาอสังหาฯจะเริ่มได้หลังจากนี้ มีแผนจะทำโครงการมิกซ์ยูส ทั้งห้างสรรพสินค้า ออฟฟิศและคอนโดมิเนียมเกรดเอ มูลค่าลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท" นายคีรีกล่าว

ผนึกแสนสิริ-จีแลนด์

นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง กล่าวเพิ่มว่า เมื่อตัดที่ดิน 10 ไร่สร้างถนนในโครงการไปแล้ว ที่ดินทำเลนี้จะเหลืออีก 38 ไร่ เพื่อเตรียมพัฒนาโครงการใหม่ ร่วมทุนกับกลุ่มจีแลนด์ และอาจมีผู้ประกอบการรายอื่นสนใจเข้าร่วมด้วย

อาทิ บมจ.แสนสิริ ที่ร่วมทุนกับบีทีเอส พัฒนาคอนโดฯ "เดอะไลน์" ตามแนวรถไฟฟ้าไปแล้ว ก็สนใจจะร่วมพัฒนาที่แปลงนี้ด้วย เนื่องจากเป็นทำเลศักยภาพติดถนนพหลโยธิน และห่างจากสถานีพหลโยธิน 24 ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพียง 200 เมตร

"ที่มีขนาดใหญ่มาก ต้องทำแบบมิกซ์ยูสแน่นอน เราเปิดกว้างหากใครสนใจจะร่วมพัฒนา ไม่ว่าผู้ประกอบการด้านโรงแรม ออฟฟิศ หรือที่อยู่อาศัย ซึ่งแสนสิริก็สนใจ ตอนนี้ก็ร่วมกันลงทุนไปแล้ว 16 โครงการจาก 25 โครงการ มูลค่า 100,000 ล้านบาท"

เนรมิต 38 ไร่สู่มิกซ์ยูส

ด้านแหล่งข่าวใน บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง กล่าวว่า การที่บริษัทยอมเฉือนที่ 10 ไร่สร้างถนนขนาดใหญ่เป็นทางลัดการเดินทางนั้น เพราะต้องการเพิ่มมูลค่าที่ดิน หลังจากภาครัฐไม่มีแผนลงทุนในย่านนี้ ซึ่งในอนาคตทางกลุ่มบริษัทมีแผนจะพัฒนาโครงการดังกล่าวในรูปแบบมิกซ์ยูส เป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่มีทุกอย่างครบ ทั้งแหล่งช็อปปิ้ง แหล่งงาน ร้านอาหาร ที่อยู่อาศัย มีถนนให้สัญจร และทางเชื่อมรถไฟฟ้า

"ถนนจะสร้างใหญ่เท่ากับถนนพหลโยธิน จะเปิดให้ประชาชนใช้ก่อน ส่วนจะยกให้รัฐหรือเก็บค่าใช้ทางหรือไม่ อยู่ที่นโยบายผู้บริหาร ตอนนี้คุณคีรีคิดคอนเซ็ปต์กว้าง ๆ ไว้แบบนี้ เหมือนเมืองทองธานีที่ตัดถนนและพัฒนาเป็นเมืองขึ้นมา"

ได้ฤกษ์ลุย 2 ทำเลทอง

นอกจากนี้ นายกวินเปิดเผยอีกว่า ในเร็ว ๆ นี้จะลงทุนพัฒนา 2 โครงการ มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท แปลงแรกเป็นที่ดินพญาไทติดรถไฟฟ้าบีทีเอส พื้นที่ 6 ไร่เศษ จะร่วมกับ บมจ.ยู ซิตี้ (บมจ.แนเชอรัลพาร์คเดิม) พัฒนาเป็นมิกซ์ยูสคอมเพล็กซ์ สูง 50 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 100,000 ตารางเมตร มีร้านค้า สำนักงานเกรดเอ โรงแรม อาคารจอดรถ มูลค่า 6,000 ล้านบาท อีก 3 เดือนจะเริ่มตอกเสาเข็ม ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี กำหนดเสร็จปลายปี 2563

แปลงที่ 2 เป็นที่ดินจตุจักร-หมอชิต ยังเหลือ 11 ไร่เศษ จากการพัฒนาคอนโดฯเดอะไลน์ บริษัทจะลงทุนเองทำเป็นอาคารประเภทมิกซ์ยูสคอมเพล็กซ์ สูง 40-50 ชั้น เท่ากับตึกทหารไทย จำนวน 2 อาคาร พื้นที่ใช้สอยรวม 100,000 ตร.ม. ที่นี่จะมีทุกอย่าง ระหว่างนี้รอการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปลายปี 2560 ใช้เวลา 42-48 เดือน ตามแผนจะแล้วเสร็จปลายปี 2564



เริ่ม 22 พ.ย.นี้ ทดลองปิดสะพานรัชโยธิน ปิดจริง 26 พ.ย.ยาว 2 ปี แนะใช้ 5 เส้นทางเลี่ยง



16  พฤศจิกายน 2559 

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า การปิดการจราจรบนสะพานรัชโยธิน จะแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1) วันอังคารที่ 22 และวันพุธที่ 23 พฤศจิกายน 2559 ปิดการจราจรตั้งแต่เวลา 10.00 น. ถึงเวลา 15.00 น 
2) วันพฤหัสบดีที่ 24 และวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2559 ปิดการจราจรตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึงเวลา 17.00 น.และ 3) วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2559 ปิดเพื่อรื้อสะพานรัชโยธิน ตั้งแต่เวลา 01.00 น. เป็นต้นไป

และเพื่อลดผลกระทบด้านการจราจรอันเนื่องมาจากการปิดรื้อสะพานรัชโยธินดังกล่าวให้น้อยที่สุด รฟม.ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับขยายช่องทางจราจรทางราบบนถนนรัชดาภิเษกบริเวณสี่แยกรัชโยธิน ทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก เพิ่มอีก 1 ช่องทาง รวมเป็น 3 ช่องทาง และทำช่องกลับรถเพิ่มในถนนรัชดาภิเษกฝั่งศาลอาญา ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของทางราบให้สามารถรองรับจำนวนรถยนต์ได้มากขึ้น




นอกจากนี้ รฟม.ยังได้ประชาสัมพันธ์เส้นทางเลี่ยงให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับทราบล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าสู่พื้นที่ก่อสร้างบริเวณสี่แยกรัชโยธิน 5 เส้นทาง ดังนี้

เส้นทางที่ 1 ใช้ทางเลี่ยงเข้าสู่ซอยพหลโยธิน 21 ออกไปยังซอยวิภาวดี 30

เส้นทางที่ 2 ใช้ทางเลี่ยงเข้าสู่ซอยพหลโยธิน 23 ออกไปยังซอยวิภาวดี 32

เส้นทางที่ 3 ใช้ทางเลี่ยงเข้าสู่ซอยรัชดาภิเษก 46 ออกไปยังซอยพหลโยธิน 33

เส้นทางที่ 4 ใช้ทางเลี่ยงเข้าสู่ซอยรัชดาภิเษก 48 และ 46/1 ออกไปยังซอยพหลโยธิน 35

เส้นทางที่ 5 ใช้ทางเลี่ยงเข้าสู่ซอยพหลโยธิน 30 ออกไปยังซอยรัชดาภิเษก 36, 32, 30

โดยเป็นตามแผนดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-คูคตจะมีการก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้ายกระดับช่วงระหว่างสถานีรัชโยธินกับสถานีพหลโยธิน 24 ที่ตัดผ่านสี่แยกรัชโยธินและสะพานรถยนต์ข้ามแยกในแนวถนนพหลโยธิน จึงมีความจำเป็นต้องรื้อสะพานรถยนต์ข้ามแยกรัชโยธินออก

ซึ่งทาง รฟม.มีแผนก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดทางแยกในแนวถนนรัชดาภิเษกทดแทน ควบคู่กับการก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามแยกในแนว ถนนพหลโยธินโดยใช้โครงสร้างเดียวกันกับทางวิ่งยกระดับของรถไฟฟ้า ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรองรับการจราจรที่บริเวณแยกรัชโยธินทั้ง 2 ทิศทาง อันเป็นการแก้ปัญหาจราจรบริเวณสี่แยกรัชโยธินได้อย่างยั่งยืน โดยจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการให้สั้นที่สุดในการปิดการจราจรระหว่างดำเนินการก่อสร้างโครงการ คาดว่าใช้เวลาดำเนินการ 2 ปี

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์  






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น