โครงการรถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาลนี้จัดเป็นโครงการที่มีแนวคิดมาจากการศึกษาทบทวนโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ที่ กทพ.ได้ก่อสร้างเสาตอม่อกว่า 280 ต้นเตรียมไว้แล้ว ต่อมากระทรวงคมนาคมมีแนวคิดที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาลแทน
นอกจากนั้นโครงการนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 รับทราบมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 ที่มอบหมายให้ สนข. ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม โดยพิจารณาโครงข่ายการขนส่งและจราจรในภาพรวมและการเชื่อมต่อต่างๆ ตลอดจนทางเลือกในการเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก (ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9) และความเป็นไปได้ในการเชื่อมต่อโครงข่ายทางยกระดับอุตราภิมุขกับทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตกอีกด้วย
แนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาล จะมีจุดเชื่อมต่อได้กับโครงการรถไฟฟ้า 6 สาย เริ่มต้นจากแยกแคราย (เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีชมพู) ไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน (เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง บริเวณสถานีบางเขน) ผ่านแยกเกษตร (เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม บริเวณสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ถนนนวมินทร์ และไปสิ้นสุดบริเวณถนนรามคำแหง (เชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม บริเวณแยกลำสาลี) ระยะทางประมาณ 21.5 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ได้เปิดรับฟังความเห็นประชาชนไปแล้วหลายครั้ง คาดว่าเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มความสะดวก ปลอดภัย และประหยัดเวลาในการเดินทางของประชาชน ช่วยด้านการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังลดปัญหาการจราจรบริเวณถนนงามวงศ์วาน และถนนประเสริฐมนูกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย แต่ยังมีลุ้นว่าโครงการรถไฟฟ้าสายนี้และทางด่วนสายเหนือจะก่อสร้างไปตามแนวเดียวกันหรือจะเกิดขึ้นเฉพาะโครงการใดโครงการหนึ่งเท่านั้นปี 2561 คงได้ความชัดเจน
ที่มา : หนังสือฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,313 วันที่ 12 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น