วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ความคืบหน้า 2 เส้นทาง รถไฟฟ้าสีชมพู สายสีเหลือง สายสีส้ม

ที่ดินแนวรถไฟฟ้าพุ่งเท่าตัว ‘ชมพู-เหลือง-ส้ม’ร้อนแรง

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ 18 พฤศจิกายน 2559 



เปิดทำเลทองจุดตัด จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าใหม่ 3 สาย “สีชมพู-เหลือง-ส้ม” ผู้เชี่ยวชาญอสังหาฯแนะจับตาเมืองทองธานี, วงเวียนหลักสี่, ลาดพร้าว,พัฒนาการ, ลำสาลี, มีนบุรี, สำโรง ราคาที่ดินวิ่ง บางทำเลปรับเพิ่มเกือบเท่าตัว
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังเดินหน้าเร่งรัดดำเนินโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในหลักการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน (PPP) ล่าสุดขายเอกสารประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี(งานโยธา) ระยะทาง 21.2 กม. วงเงิน79,726.43 ล้านบาท เปิดรับซองวันที่31 ตุลาคม ที่ผ่านมา
รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 53,490 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง29.1 กม. วงเงิน 51,810 ล้านบาท โดย2 โครงการหลัง กำหนดเปิดรับซองไปเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยจะใช้เวลาในการพิจารณาข้อเสนอ 3เดือน ก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ทั้งนี้ ตามแผนรถไฟฟ้าสายสีส้มคาดว่าจะลงนามและก่อสร้างได้ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2560 ส่วนสายสีชมพูและสีเหลือง จะลงนามและก่อสร้างได้ในเดือนเมษายน 2560
นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์และผู้เชี่ยวชาญด้านประเมินทรัพย์สิน เปิดเผยว่า ในโครงการรถไฟฟ้า 3 สายใหม่ที่เปิดประมูลนั้น สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เป็นเส้นทางที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะแนวเดินรถจะวิ่งผ่านจากถนนลาดพร้าวเข้าบางกะปิ และไปสิ้นสุดที่สำโรง ถือว่าเป็นเส้นทางใกล้เมืองเท่ากับสายสีน้ำเงินและแหล่งงาน นอกจากนี้ในอนาคตจะมีศูนย์คมนาคมย่านพหลโยธิน ทั้งนี้ ทำเลจุดตัด จุดเชื่อมที่น่าสนใจคือ รัชดาฯ-ลาดพร้าว โดยเฉพาะช่วงต้นๆลาดพร้าว ปัจจุบันราคาที่ดินติดถนนใหญ่ประมาณ 4-5 แสนบาทต่อตารางวา ในซอยประมาณ 2-3 แสนบาทต่อตารางวา แต่ปัญหาคือที่ดินหายาก
อีกทำเลที่น่าจับตาคือ ย่านพัฒนาการ ปัจจุบันมีบริษัทพัฒนาอสังหาฯรายใหญ่ซื้อที่ดินแปลงใหญ่ขนาด 100 ไร่ ขึ้นโครงการหลายราย ผังเมืองย่านนี้ ย.4 เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย สร้างคอนโดฯได้สูงไม่เกิน 8 ชั้น รวมไม่เกิน 1 หมื่นตารางเมตร ราคาที่ดินประมาณ 2.5 แสนบาทต่อตารางวาแต่ในอนาคตคาดว่าพื้นที่นี้อาจจะได้ปรับเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง ย.5 หรือ ย.6

บทความที่เกี่ยวข้อง 

ขายที่ดินติดถนนศรีนครินทร์-แบริ่ง ติดรถไฟฟ้าสีเหลือง(ลาดพร้าวสำโรง)



“คีรี”ลั่นพร้อมชิงประมูล 2 เส้นทาง 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 





"คีรี" จับมือพันธมิตรชิงประมูลรถไฟฟ้าสายสีเหลือง-ชมพู คาดใช้เงินลงทุนกว่า 8 หมื่นล้าน พร้อมยื่นข้อเสนอพิเศษนอกเหนือทีโออาร์เชื่อม "อิมแพค"














บีทีเอส-ช.การช่างชิงดำรถไฟฟ้า 
รายงานข่าวจากรฟม.ระบุว่าผู้ยื่นข้อเสนอรายแรกคือ กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วยบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส กรุ๊ป ,บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)หรือ RATCH และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ส่วนรายที่ 2 คือบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม

โดยขั้นตอนต่อไปคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 จะพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอและเปิดซองข้อเสนอในวันที่ 17 พ.ย. นี้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ในการดำเนินการประเมินข้อเสนอและเจรจาต่อรองกับเอกชนผู้ชนะการคัดเลือก ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้ประมาณเดือน เม.ย. 2560

ใช้รูปแบบ“พีพีพี”ทั้ง2โครงการ

รายงานข่าว ระบุว่าสัมปทานของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู วงเงิน 53,519.50 ล้านบาท และสีเหลืองวงเงิน 51,931.15 ล้านบาท เป็นรูปแบบพีพีพี โดยรฟม. ลงทุนด้านการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนเอกชนผู้รับสัมปทานลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางโยธา ระบบเครื่องกลและไฟฟ้า (รถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคร่อมราง) และให้บริการการจัดการเดินรถและบำรุงรักษา รวมถึงเป็นผู้จัดเก็บค่าบริการ(PPP Net Cost) ซึ่งมีระยะเวลาสัมปทาน 33 ปี 3 เดือน

ทั้งนี้ แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ คือระยะที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างงานโยธา พร้อมระบบเครื่องกลและไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 3 ปี 3 เดือนและระยะที่ 2 งานให้บริการด้านบริหารจัดการการเดินรถและบำรุงรักษา เป็นระยะเวลา 30 ปี

รฟม.ยอมรับมีผู้เสนอน้อยราย

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รฟม.อยากเห็นจำนวนผู้ยื่นข้อเสนอและการแข่งขันมากกว่านี้ แต่การประมูลครั้งนี้ถือว่ามีผู้เข้าร่วมพอสมควร และยังเห็นผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามาวงการ เช่น กลุ่มราชบุรี โฮลดิ้ง

ส่วนสาเหตุที่มีผู้ยื่นซองข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสีชมพูและเหลืองน้อยราย คาดว่าเป็นเพราะเอกชนผู้รับสัมปทานต้องลงทุนทั้งด้านก่อสร้างและเดินรถ ส่งผลให้มีผู้คุณสมบัติและความสามารถในการลงทุนมีจำนวนไม่มาก

อีกทั้งบางรายพิจารณาว่าการลงทุนไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยง เนื่องจากมีความเสี่ยงเรื่องระยะเวลาการก่อสร้างที่จำกัดและรายได้ที่ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสาร อีกทั้งเอกชนต้องอาศัยเงินอุดหนุนจากภาครัฐสูงสุดไม่เกิน 20,000 ล้านบาทจึงอาจทำให้มีกำไรไม่มาก

“คีรี”ลั่นพร้อมชิงประมูล 2 เส้นทาง

ด้านนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส กล่าวว่าบริษัทมีความสนใจเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ เสนอราคาที่ถูกต้องและด้วยประสบการณ์ ความชำนาญบริษัทจึงได้เสนอข้อเสนอพิเศษในการเชื่อมต่อของเส้นทางไปในจุดที่มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นข้อเสนอที่นอกเหนือจากทีโออาร์ที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีจุดแข็งคือเป็นผู้เดินรถลอยฟ้าที่มีความชำนาญและสามารถบริหารต้นทุนได้ดีกว่า นอกจากนี้ยังมีพาร์ทเนอร์ที่จะขายรถให้ในราคาต้นทุนที่ต่ำด้วย ในส่วนของบริษัทเองก็ได้เสนอราคาที่สมเหตุสมผลมาก โดยทั้งสองสายจะใช้เงินลงทุนกว่า 80,000 ล้านบาท

ยื่นข้อเสนอพิเศษเชื่อมต่อ 2 จุด

นายคีรี กล่าวว่าในส่วนของสายสีชมพู (แคลาย-มีนบุรี) บริษัทได้เสนอที่จะขยายเส้นทางเพิ่มเพื่อเชื่อมเข้าไปยังอิมแพค เมืองทองธานีระยะทางประมาณ 2-3 กิโลเมตร ซึ่งแผนเดิมไม่มีการเชื่อมต่อ ส่วนสายสีเหลืองบริษัทก็ได้จะขยายเส้นทางเพิ่มอีก2.6 กิโลเมตร บริเวณรัชดาแยกรัชโยธิน เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว

“ข้อเสนอดังกล่าวแม้จะไม่อยู่ในทีโออาร์ แต่จากการศึกษาพฤติกรรมของคนจากการเดินทาง ทำให้เห็นว่าการขยายเส้นทางเหล่านี้ จะสามารถเพิ่มปริมาณผู้โดยสารได้ ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกว่าผู้โดยสารเดินทางไปไหนบ้าง ถือเป็นข้อเสนอพิเศษของบริษัท ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้โดยสารมากในการเดินทาง ผมมีความมั่นใจบริษัทมีความชำนาญบริหารต้นทุน และความชำนาญด้านการเดินรถเป็นอย่างดี”นายคีรี กล่าวและว่าในส่วนของแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ไม่เป็นปัญหาแน่นอน เพราะขณะนี้ธนาคารต่างๆให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมเพราะต้องการให้โครงการลงทุนมีต้นทุนที่ต่ำ

ช.การช่างจับมือ BEM ร่วมประมูล

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม กล่าวว่า บีอีเอ็ม ร่วมกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ยื่นประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง โดยช.การช่างจะรับผิดชอบด้านงานโยธา ส่วน บีอีเอ็ม จะรับผิดชอบด้านการเดินรถตามที่ถนัด

“จริงๆ ทุกเรื่องมันมีความเสี่ยงทั้งนั้น แต่ถ้าเกิดเรามีความสามารถที่จะบริหารความเสี่ยงได้ ความเสี่ยงนั้นก็จะไม่มากมายสำหรับเรา การลงทุนแบบพีพีพี เนื่องจากมันมีข้อมูลที่รัฐก็เข้าใจว่ารัฐจะต้องสนับสนุนอย่างไรบ้าง จะเป็นการเยียวยาทำให้ความเป็นไปได้ทางธุรกิจมันเกิดขึ้น” นายสมบัติ กล่าว

สำหรับผู้ชนะการประมูลครั้งนี้ คือผู้ที่เสนอส่วนลดค่าชดเชยจากภาครัฐมากที่สุด เพราะฉะนั้น BEM จะเน้นโมเดลเรื่องการสร้างรายได้ เช่น การพัฒนาเชิงพาณิชย์ในสถานีรถไฟฟ้าซึ่งที่ผ่านก็ประสบความสำเร็จพอสมควร และการลดต้นทุนเพื่อแข่งขันกับรายอื่น


บทความที่เกี่ยวข้อง 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น