วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

Update อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน กู้ซื้อคอนโด

เรื่องซื้อบ้านกับการกู้สินเชื่อเรียกได้ว่าเป็นของคู่กัน แล้วจะเลือกกู้ซื้อบ้านกันธนาคารไหนดี? หายห่วงได้ DDproperty ได้รวบรวมข้อมูลอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน อัพเดทประจำเดือน พฤศจิกายน ปี 2560 จากหลากหลายธนาคาร เช่น ธ.กสิกรไทย ธ.ไทยพาณิชย์ ธ.กรุงเทพ ธ.กรุงไทย ธ.ออมสิน ธ.ทหารไทย ธ.กรุงศรีอยุธยา มาเปรียบเทียบให้เห็นกันไปเลย ที่ไหนให้สินเชื่อกู้ซื้อบ้านคิดดอกเบี้ยต่ำสุด มีเงื่อนไขอะไรบ้างเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการพิจารณาเลือกสินเชื่อ สำหรับผู้ที่กำลังตัดสินใจเลือกซื้อบ้าน หรือ คอนโด ได้ง่ายขึ้น พร้อมตัวช่วยในการคำนวณผ่อนชำระสินเชื่อบ้าน
เดือนพฤศจิกายนธนาคารต่างๆ ยังคงมีอัตราดอกเบี้ยคงที่เท่ากับเดือนพฤศจิกายนเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้น ธนาคารทหารไทย (TMB) ที่มีการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านของ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่กำหนด อาทิ โครงการบ้านและคอนโดฯจากแสนสิริ, โครงการบ้านและคอนโดฯจากอนันดาฯ และโครงการบ้านและคอนโดฯจากเอพี (ไทยแลนด์) เป็นต้น (สามารถดูรายชื่อบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่กำหนดทั้งหมดของธนาคารทหารไทยได้ที่นี่) โดยมีการเปลี่ยนแปลงจากอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีในเดือนตุลาคมที่ 4.25% ลดลงมาอยู่ที่ 4.00% 
สำหรับฝั่งธนาคารพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เป็นธนาคารที่มีดอกเบี้ยอันดับสองรองลงมามีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 4.18% สำหรับสินเชื่อ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม และคอนโดมิเนียม 5 ล้านบาทขึ้นไป 
ส่วน ธนาคารกสิกรไทย (Kbank) มีอัตราดอกเบี้ยเท่ากับเดือนที่แล้วที่ 4.42% (ภายใต้โครงการที่ธนาคารวางเงื่อนไข) และ ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ 
โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มีอัตราดอกเบี้ยทางเลือกสำหรับโครงการทั่วไปแบบที่ 1 อยู่ที่ 6.75% และแบบที่สองอยู่ที่ 4.75% และให้วงเงินกู้สูงสุดจากการประเมินถึง 100% ส่วนถ้าเป็นบริษัทอสังหาฯ ที่ธนาคารกำหนดจะมีอัตราดอกเบี้ยของแต่ละโครงการไม่เท่ากัน
ส่วนฝั่งของธนาคารรัฐยังเป็นเจ้าเดิมที่ครองอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุดนั่นคือ ธนาคารทหารไทย (TMB) ที่ให้วงเงินกู้สูงสุด 95% ของราคาประเมิน สำหรับ บ้านและคอนโดมิเนียม ราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท และ 90% ของราคาประเมิน สำหรับ บ้านและคอนโดเนียม ราคาเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป และมีอัตราดอกเบี้ยลดลงมาอยู่ที่ 4.00% สำรับบริษัทอสังหาฯ ที่กำหนด โดยมีอัตราดอกเบี้ยของ ธนาคารออมสิน (GSB) อยู่ในเรทรองลงมาที่ 4.25% สำหรับโครงการทั่วไปแต่วงเงินกู้สูงสุดอยู่ที่ 85% ของราคาประเมินเท่านั้น สำหรับอัตราดอกเบี้ยสินเชื้อของธนาคารอื่นเราสรุปมาให้ในตารางด้านล่างนี้
*อัตราสินเชื่อบ้านโดยส่วนใหญ่จะเปลี่ยนแปลงไม่บ่อยมากนัก ประมาณ 1 ไตรมาสหรือครึ่งปีต่อครั้ง ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านขึ้นอยู่กับปัจจัยที่แตกต่างกันระหว่างธนาคารแต่ละที่ด้วย
อัพเดทตารางอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ บ้าน - คอนโด ของธนาคารพาณิชย์ เดือน พฤศจิกายน 2560

*** อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน เฉลี่ย 3 ปีแรก คำนวณแบบค่าเฉลี่ยทางคณิตศาสตร์เท่านั้น***
สามารถดาวน์โหลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในรูปแบบต่างๆ ของแต่ละธนาคาร และชมรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น อัตราดอกเบี้ยรายปี วงเงินกู้ และข้อมูลอื่นๆ ได้ที่นี่: 
ข้อมูลที่น่าสนใจ ของธนาคารที่เสนออัตราดอกเบี้ยต่ำสุดในเดือนนี้ได้แก่ ธนาคารกรุงศรี ธนาคารทหารไทย และธนาคารออมสิน โดยปล่อยวงเงินกู้สูงสุดถึง 85 - 95% ของราคาประเมิน โดยอีกหนึ่งธนาคารที่น่าสนใจคือธนาคารไทยพาณิชย์สำหรับบริษัทอสังหาฯ ที่กำหนด ซึ่งแต่ละโครงการจะมีอัตราดอกเบี้ยไม่เท่ากันและบางโครงการอาจมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า ธนาคารกรุงศรี ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดในเดือนนี้
ที่มาอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดเฉลี่ย 3 ปี แรก*
- ธนาคารทหารไทย กำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับบริษัทพัฒนาอสังหาฯที่กำหนด ปีที่ 1 ดอกเบี้ย 4.00%  ปีที่ 2 4.00% ปีที่ 3 4.00% ทำให้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.00%
-ธนาคารกรุงศรีอยุทธยา กำหนดอัตราดอกเบี้ย สำหรับ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด   ทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม และคอนโดมิเนียม 5 ล้านบาทขึ้นไป แบบที่ 3 ให้มีอัตราดอกเบี้ยต่ำสุด เดือนที่ 1-6 1.25% เดือนที่ 7-24 MRR-1.85%ปีที่ 3 MRR-1.85% ทำให้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.18%
- ธนาคารออมสิน กำหนดอัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1 ดอกเบี้ย 1.25% ปีที่ 2 MRR-2.00% ปีที่ 3 MRR-0.75%  โดยมี MRR=7.125% ทำให้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.25%

กรณีตัวอย่าง : ช้อัตราส่วนการผ่อนชำระเบื้องต้นที่ 1,000,000 : 7,000
หากกู้ซื้อบ้านในราคาประเมิน 2,000,000 บาท สามารคิดเป็นยอดชำระเริ่มต้นต่อเดือนจากวงเงินกู้ได้ที่ประมาณ 14,000 บาทต่อเดือน 
คำนวณเบื้องต้นจากธนาคารที่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุด
ซื้อบ้านกับธนาคารทหารไทยที่มีดอกเบี้ยคงที่อยู่ที่ 4.00% ทั้ง 3 ปี  โดยแบ่งชำระเป็นจำนวนเงิน 14,000 บาทต่อเดือนตลอดระยะเวลา 3 ปี รวมเป็นยอดชำระทั้งหมด 504,000 บาท แบ่งเป็นเงินต้น 283,254.74 บาท และคิดเป็นดอกเบี้ย 220,745.26 บาท 

การคำนวณเงินต้นและดอกเบี้ยตามกรณีตัวอย่างด้านบนเป็นการคำนวณเบื้องต้น 3 ปีแรกเท่านั้น หากต้องการคำนวณการผ่อนสินเชื่อบ้านตลอดระยะเวลาการกู้ สามารถดาวน์โหลดตารางคำนวณผ่อนสินเชื่อบ้าน โดยอ้างอิงจากอตราดอกเบี้ยและการผ่อนชำระจริงต่อเดือนได้ที่นี่

***ทั้งนี้การคำนวณดังกล่าวเป็นการคาดคะเน อัตราจริงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร***

นอกจากอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารที่เราได้รวบรวมมาให้แล้ว เรายังมีเทคนิคเบื้องต้นในการเลือกสินเชื่อบ้านให้ได้ดอกเบี้ยต่ำและวงเงินกู้สูงมาแนะนำอีกด้วย
1. บ้านโครงการใหม่ หากคุณกำลังจะซื้อบ้านโครงการใหม่ หรือบ้านมือหนึ่ง ซึ่งเป็นการซื้อจากบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยตรง ปัจจุบันหลายบริษัทฯ มีการทำความร่วมมือกับธนาคารเพื่อให้อัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษแก่ลูกค้าของบริษัท ดังนั้นจึงไม่ควรมองข้ามสินเชื่อที่ทางโครงการจัดให้ หรือสามารถสอบถามจากทางธนาคารโดยตรงก็ได้ครับว่าโครงการที่สนใจจะซื้อนั้นเป็นโครงการที่ธนาคารให้การสนับสนุนอยู่หรือไม่
2. การซื้อทรัพย์สินธนาคาร NPA ธนาคารที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน NPA นั้นมักจะมีอัตราดอกเบี้ยพิเศษไว้ให้ลูกค้าที่ซื้อทรัพย์สินธนาคาร สามารถสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารเจ้าของทรัพย์ได้ครับ
3. หน่วยงานที่ทำงาน บางธนาคารนั้นมีอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพื่อพนักงานที่ทำงานในหน่วยงานนั้นโดยเฉพาะในลักษณะสวัสดิการต่างๆ มีทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จึงควรสอบถามแก่ทางฝ่ายทรัพยากรบุคคลว่ามีสวัสดิการเกี่ยวกับการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยไว้กับธนาคารใดหรือไม่ หรือสอบถามเพิ่มเติมกับธนาคารต่างๆ ก็ได้ นอกจากนี้บางธนาคารมีการจัดกลุ่มอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันในบางธุรกิจ หรือขนาดบริษัทซึ่งเราทำงานอยู่ซึ่งสามารถสอบถามข้อมูลได้จากเจ้าหน้าที่สินเชื่อของแต่ละธนาคาร
4. กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพพิเศษ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร นักบินพาณิชย์ ผู้พิพากษา และอัยการ ธนาคารบางแห่งมีอัตราดอกเบี้ยพิเศษให้กับกลุ่มลูกค้านี้โดยเฉพาะ สามารถสอบถามได้จากเจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคาร
5. กลุ่มข้าราชการ ลูกจ้างของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ส่วนใหญ่จะมีสวัสดิการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยกับธนาคารของภาครัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตร ควรสอบถามหน่วยงานต้นสังกัด หรือเจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารเหล่านี้ก่อน เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ครับ
6. ทำประกัน MRTA การทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อหรือ MRTA พร้อมกับการขอสินเชื่อนั้น ธนาคารมักจะมีส่วนลดอัตราดอกเบี้ยลงเล็กน้อย แต่จะมีเงื่อนไขว่าต้องทำประกันคุ้มครองเป็นสัดส่วนเท่าใดของวงเงินกู้ หรือระยะเวลานานเท่าใด จึงจะเข้าเงื่อนไขที่จะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งเจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารจะสามารถให้รายละเอียดคุณได้ครับ
ข้อมูลทั้งหมดนี้เป็นการรวบรวมมาจากเว็บไซต์ของธนาคาร และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ของธนาคารเท่านั้น หากคุณมีข้อสงสัยหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถเรียกดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ของธนาคารผู้ออกสินเชื่อนั้น หรือสอบถามโดยตรงจากเจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารได้ทุกสาขาซึ่งยินดีให้ข้อมูล
รวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงบทความ: DDproperty

วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

สายสีนํ้าตาลแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) จุดพลุทำเลทองใหม่เชื่อมรถไฟฟ้า6สาย

ตามที่ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีการนำเสนอข่าวกรณีสำนักผังเมืองกรุงเทพ มหานครจะมีการปรับผังเมืองในพื้นที่ตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ (เกษตร-นวมินทร์) เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาโครงการของภาคเอกชนในโซนพื้นที่ดังกล่าวจากปัจจุบันสามารถพัฒนาโครงการได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น




นอกจากนั้นการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ยังมีแผนก่อสร้างโครงการทางด่วนสายเหนือ ช่วง N1-N2 และ E-W Corridor ให้เชื่อมกับทางด่วนเส้นทางตะวันออก และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ยังอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในแนวเส้นทางดังกล่าว นั่นคือ รถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาลช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) เพื่อลดเวลาในการเดินทางของประชาชนและเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โครงการรถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาลนี้จัดเป็นโครงการที่มีแนวคิดมาจากการศึกษาทบทวนโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ที่ กทพ.ได้ก่อสร้างเสาตอม่อกว่า 280 ต้นเตรียมไว้แล้ว ต่อมากระทรวงคมนาคมมีแนวคิดที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาลแทน

นอกจากนั้นโครงการนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 รับทราบมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 ที่มอบหมายให้ สนข. ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม โดยพิจารณาโครงข่ายการขนส่งและจราจรในภาพรวมและการเชื่อมต่อต่างๆ ตลอดจนทางเลือกในการเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก (ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9) และความเป็นไปได้ในการเชื่อมต่อโครงข่ายทางยกระดับอุตราภิมุขกับทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตกอีกด้วย

แนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาล จะมีจุดเชื่อมต่อได้กับโครงการรถไฟฟ้า 6 สาย เริ่มต้นจากแยกแคราย (เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีชมพู) ไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน (เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง บริเวณสถานีบางเขน) ผ่านแยกเกษตร (เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม บริเวณสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ถนนนวมินทร์ และไปสิ้นสุดบริเวณถนนรามคำแหง (เชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม บริเวณแยกลำสาลี) ระยะทางประมาณ 21.5 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ได้เปิดรับฟังความเห็นประชาชนไปแล้วหลายครั้ง คาดว่าเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มความสะดวก ปลอดภัย และประหยัดเวลาในการเดินทางของประชาชน ช่วยด้านการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังลดปัญหาการจราจรบริเวณถนนงามวงศ์วาน และถนนประเสริฐมนูกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย แต่ยังมีลุ้นว่าโครงการรถไฟฟ้าสายนี้และทางด่วนสายเหนือจะก่อสร้างไปตามแนวเดียวกันหรือจะเกิดขึ้นเฉพาะโครงการใดโครงการหนึ่งเท่านั้นปี 2561 คงได้ความชัดเจน


ที่มา : หนังสือฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,313 วันที่ 12 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

อัพเดทความความคืบหน้ารถไฟฟ้าในกรุงเทพ

รฟม. แจ้งความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งความคืบหน้าการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2560 จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 
-------------------------------------------------------------------------------------
1. โครงการรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ 
ปัจจุบัน มีความก้าวหน้า 96.42% โดยในส่วนของงานก่อสร้างโครงสร้างเหล็กทางวิ่งรถไฟฟ้าช่วงข้ามทางแยก (BOWSTRING) บางพลัด มีความคืบหน้าใกล้แล้วเสร็จโดยมีความก้าวหน้า 82 % และในส่วนของ BOWSTRING บริเวณแยกไฟฉาย มีก้าวหน้ารวม 91.64 % ทั้งนี้ โครงการฯ มีกำหนดจะเปิดให้บริการช่วง
หัวลำโพง – บางแค ในปี 2562 และ ช่วงบางซื่อ – ท่าพระ เปิดให้บริการในปี 2563
--------------------------------------------------------------------------------------
2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต
ปัจจุบัน มีความก้าวหน้า 48.56% โดยมีงานก่อสร้างที่สำคัญ ได้แก่ งานก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามแยกเกษตรศาสตร์ มีความก้าวหน้า 66.39% เปิดให้บริการปี 2561 งานก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามแยก
รัชโยธิน มีความคืบหน้า 64.12% เปิดให้บริการปี 2561 และงานก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดบริเวณแยกรัชโยธิน มีความคืบหน้า 53.82% เปิดให้บริการปี 2562 นอกจากนี้ ยังมีงานก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าข้ามทางด่วน
ดอนเมืองโทลล์เวย์ บริเวณห้าแยกลาดพร้าว มีความก้าวหน้า 25.68% ทั้งนี้ โครงการฯ มีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการปี 2563
-------------------------------------------------------------------------------------
3. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
ปัจจุบัน รฟม. โดยผู้รับจ้างก่อสร้างฯ อยู่ระหว่างการสำรวจสาธารณูปโภคใต้ดิน มีความก้าวหน้า 3.24% ทั้งนี้ โครงการฯ มีกำหนดเปิดให้บริการปี 2566

สำหรับในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง นั้น ปัจจุบัน รฟม. ได้ดำเนินการคัดเลือกกลุ่มบริษัทเพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาโครงการแล้วเรียบร้อย และขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมเข้าพื้นที่ของบริษัทผู้รับจ้างก่อสร้างเพื่อเริ่มดำเนินงานสำรวจและรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน โดยทั้ง 2 โครงการ มีกำหนดจะเปิดให้บริการภายในปี 2564 ติดตามรายละเอียดข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ รฟม. (www.mrta.co.th) และเฟซบุ๊คแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทร. 0 2716 4044  





_________________________________
กองสื่อสารองค์กร สำนักผู้ว่าการ
โทร 0 2716 4000 ต่อ 1720
โทรสาร 0 2716 4019
Email : pr@mrta.co.th