วันจันทร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2560

เริ่มต้นปีด้วยการวางแผนภาษีแบบง่ายๆ 5เทคนิคจากนักการเงิน

การ วางแผนภาษี ตั้งแต่เนิ่น ๆ ในช่วงต้นปีสามารถช่วยให้เราลดภาระภาษีจ่ายในปีนั้นๆ ได้ By k-expert

พูดถึงภาษี ที่ผ่านมาบางคนอาจจะไม่ได้สนใจ ยิ่งมนุษย์เงินเดือนเจอบริษัทหักไปทุกเดือน ไม่เคยลองเอามารวมกัน ก็รู้สึกว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่มากเท่าไร แต่พอถึงฤดูกาลยื่นภาษี ภายในเดือนมีนาคม ค่อยมาตกใจว่าทำไมเราเสียภาษีเยอะจัง จริงๆ แล้ว “ภาษี” คือ ค่าใช้จ่ายที่สามารถประหยัดได้
หากมีการวางแผนภาษีด้วย 5 เทคนิค วางแผนภาษี ดังนี้
  1. ประมาณการรายได้ทั้งปี เพื่อให้รู้ว่าในปีภาษีปัจจุบันนี้ เรามีรายได้ประมาณเท่าไร เสียภาษีในฐานอะไร จะได้วางแผนลงทุนเพื่อลดเงินได้สุทธิลง ทำให้เสียภาษีในฐานที่ต่ำลงค่ะ
  1. แจ้ง HR ให้หักลดหย่อนภาษีส่วนบุคคล เพื่อให้ภาษีที่หักนำส่งสรรพากรใกล้เคียงกับภาษีที่ต้องจ่ายจริง ทั้งสิทธิลดหย่อนส่วนตัว เช่น ค่าลดหย่อนบุตร ค่าลดหย่อนบิดามารดา ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน เป็นต้น
  1. ใช้สิทธิลดหย่อนให้เต็มที่ และลงทุนเพื่อประหยัดภาษี เริ่มจากการสำรวจสิทธิให้ครบถ้วน เพราะนอกจากค่าลดหย่อนส่วนตัวแล้ว ค่าลดหย่อนที่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม เช่น ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ค่าเบี้ยประกันชีวิต เงินลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือ เงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ต้องไม่ลืมนำมาหักลดหย่อนด้วย ซึ่งหากระหว่างปีมีรายได้เพิ่มก็ควรปรับแผนด้วยการลงทุนในกองทุน LTF/RMF ประกันชีวิต หรือประกันชีวิตแบบบำนาญเพิ่มขึ้น
  1. ขอคืนภาษีเงินปันผลที่เสียซ้ำซ้อน กรณีที่มีการลงทุนในหุ้นสามัญจดทะเบียน และได้รับเงินปันผล แนะนำให้ขอคืนภาษีเงินปันผล (เครดิตภาษีเงินปันผล) เนื่องจากเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทที่ลงทุนมีการเสียภาษีนิติบุคคลมาแล้วครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น และเมื่อผู้ถือหุ้นได้รับเงินปันผลจะต้องเสียภาษีเงินปันผล ณ ที่จ่ายอีก 10% ถือเป็นการจ่ายภาษีซ้ำซ้อน ดังนั้น หากผู้มีเงินได้เสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าภาษีนิติบุคคล (20%) แนะนำให้ใช้สิทธิขอคืนภาษีเงินปันผล
  1. เลือกยื่นแบบให้เหมาะ โดยเฉพาะคู่สามีภรรยา เพราะการเลือกแบบให้เหมาะกับตนเองและคู่สมรสจะช่วยให้สามารถประหยัดภาษีได้ค่ะ

*แยกยื่น เหมาะกับคู่สมรสที่มีเงินได้อยู่ในฐานภาษีเดียวกัน การแยกยื่นจะทำให้คู่สมรสได้รับการยกเว้นภาษี 150,000 บาทแรก จึงทำให้มีโอกาสเสียภาษีน้อยกว่าการรวมยื่นค่ะ
*ยื่นรวมเงินได้ทุกประเภ เหมาะกับคู่สมรสที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีรายได้ไม่สูงนัก แต่มีรายได้ไม่สูงมากนัก แต่มีรายการที่ใช้หักเป็นค่าลดหย่อนได้มาก
*ยื่นรวมเฉพาะเงินได้ประเภทอื่น เหมาะกับคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่มีเงินได้ประเภทเงินเดือนสูง และมีเงินได้ประเภทอื่น วิธีนี้จะช่วยให้ฐานภาษีของตนเองลดลง
เมื่อวางแผนภาษีแล้ว ควรลงมือทันทีค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนเพื่อประหยัดภาษี สามารถลงทุนทุกๆ เดือน เพื่อเป็นการเฉลี่ยต้นทุนได้


ข้อมูลจาก K-Expert 
ภาพประกอบ : กรมสรรพากร , aommoney , โพสต์ทูเดย์ , thaipublica